「สร้างความแข็งแกร่งให้ญี่ปุ่น ไทย และอาเซียน
ด้วยพลังแห่ง “บุคลากร”」
《โปรไฟล์》
ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงเทพฯ
Wada Yuhei
วาดะ ยูเฮ
■เกิดที่กรุงโตเกียวปีพ.ศ.2529 เป็นชาวโตเกียวหลังจบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ในปีพ.ศ.2552 ได้เข้าทำงานที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม มีประสบการณ์ทำงานด้านการกระจายสินค้า งานด้านพลังงานไฟฟ้าอุตสาหกรรมเคมี ฟื้นฟูฟุกุชิมะ จนเดือนมิถุนายนปีพ.ศ.2562จึงได้มาดำรงตำแหน่งปัจจุบัน
■คำคมที่ประทับใจ: คำว่าทำพรุ่งนี้ ไม่มีอยู่จริง
■บุคคลที่นับถือ: คุณพ่อ
■งานอดิเรก: ทำอาหาร ทำค็อกเทล สรรหาร้านกินดื่ม ท่องเที่ยว
■การใช้เวลาว่างในวันหยุด: เดินเล่น สรรหาร้านกินดื่ม
■หนังสือเล่มโปรด:Kingdom, lemon sawa to sakaba no tsumami
■เว็บไซต์ที่เข้าชมบ่อย: NNA
พูดถึงบทบาทของ AOTS หน่อยครับ
เรากำลังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในบริษัทญี่ปุ่นที่ต่างประเทศอยู่ครับพูดอีกอย่างก็คือ เราสนับสนุนให้พนักงานในไทยได้มีโอกาสไปฝึกอบรมที่ประเทศญี่ปุ่น หรือส่งวิศวกรญี่ปุ่นไปประเทศต่าง ๆ เพื่อฝึกอบรมและให้คำแนะนำทางเทคนิคแก่พนักงานท้องถิ่นนั้น ๆ
ปีที่แล้วบริษัทของเราครบรอบ 60 ปีพอดี เราได้พัฒนาบุคลากรมาแล้วกว่า 400,000 คนทั่วโลก ที่ประเทศไทยก็มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 50,000 คน มีการส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาประจำที่ไทยแล้วกว่า 2,000 คน นับว่าไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เพราะมีสัดส่วนผู้เข้าร่วมมากกว่า 10% ของโครงการทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้ สำนักงานที่กรุงเทพฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2513 ซึ่งเป็นสำนักงานในต่างประเทศของ AOTS ที่มีประวัติยาวนานที่สุดเรียกได้ว่าเราได้สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมของไทยมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วครับ
เนื้อหาการฝึกอบรมและบริษัทที่ใช้บริการเป็นอย่างไรครับ
ลูกค้าเข้ามาใช้บริการการฝึกอบรมทางเทคนิคมากที่สุดครับ หลังจากฝึกอบรมแบบกลุ่มเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมและสังคมญี่ปุ่นที่ศูนย์ฝึกอบรมของญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว เราจะทำการฝึกภาคปฏิบัติที่จะช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้เทคนิคต่าง ๆ ของแต่ละบริษัทครับส่วนใหญ่ลูกค้าของไทยจะมาใช้บริการด้านอุตสาหกรรมการผลิตแต่เรายังมีการฝึกอบรมในด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมบริการด้วยนะครับ ส่วนด้านการจัดการเราก็มีเช่นกัน เรียกได้ว่าเรามีบริการให้เลือกหลากหลายครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราให้การสนับสนุนเงินช่วยเหลือมากสุดถึง 2 ใน 3
สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้ฝึกอบรมระหว่างอยู่ที่ญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายในระหว่างการฝึกรวมไปถึงช่วยเหลือการทำวีซ่าฝึกอบรมเพื่อให้สามารถไปฝึกเชิงปฏิบัติได้ ซึ่งถ้าบริษัทดำเนินการเองทั้งหมด อาจจะทำได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นบริการที่เราค่อนข้างได้รับเสียงตอบรับที่ดีครับ
บริษัทที่ไม่รู้จักระบบนี้มาก่อนต่างบอกว่า “ถ้ารู้มาก่อนก็คงจะมาใช้บริการตั้งแต่แรก” ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก ผมเองก็จะพยายาม PRอย่างเต็มที่เพื่อให้บริษัทญี่ปุ่นอีกหลาย ๆ แห่งได้ใช้บริการของ AOTSเพื่อส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้นไปครับ
เครือข่าย “ผู้ฝึกอบรม” ก็น่าสนใจเช่นกัน
“เครือข่ายผู้ฝึกอบรม AOTS”เป็นเครือข่ายที่ให้ผู้ที่ผ่านการฝึกและกลับไปประเทศของตัวเองเรียบร้อยแล้วสมัครใจเข้าร่วมเพื่อนำประสบการณ์จากการ “ฝึกอบรม” เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในเครือข่าย ปัจจุบันเราได้จัดตั้งเครือข่ายนี้ใน 43 ประเทศ 72 พื้นที่ทั่วโลกในจำนวนนั้นเครือข่ายที่อยู่ในประเทศไทยก็ถือว่าได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้ตอนนี้เราจึงหันมาเน้นในด้านความร่วมมือของบริษัทไทยและญี่ปุ่นเป็นหลักครับสำหรับสมาชิกเครือข่ายในประเทศไทยประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านการเมืองและด้านธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับญี่ปุ่นและผู้ที่เริ่มสนใจศึกษาในด้านนี้ ผมจึงตั้งใจว่าอยากจะทำกิจกรรมที่ช่วยเชื่อมธุรกิจของไทยและญี่ปุ่นเข้าด้วยกันให้มากขึ้นในอนาคตครับ
นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญใน ASEAN อีกด้วย?
นอกจากจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ AOTS สาขากรุงเทพฯแล้วผมยังทำงานในสำนักเลขาธิการคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น-อาเซียน (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee : AMEICC) อีกด้วยครับหน่วยงานนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศญี่ปุ่นและ 10 ประเทศในอาเซียน เรากำลังมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาค นอกจากนี้เรายังมีการสนับสนุนโครงการนำร่องระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทสตาร์ท อัพในพื้นที่อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นครับ
ภารกิจเร่งด่วนในตอนนี้คืออะไร ?
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)ทำให้ผู้คนทั่วโลกถูกจำกัดการเดินทางสถานการณ์ดังกล่าวนื้ถือว่าสร้างความลำบากให้กับบริษัทอย่างเราที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่อยู่ทั่วโลกเป็นอย่างมากครับแต่ผมคิดว่าเราไม่ควรทำเพียงแค่รอให้สถานการณ์คลี่คลายไปเฉย ๆ ครับดังนั้นผมจึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ให้มากที่สุด แม้ว่าพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคคลสำหรับ AOTS นั้นคือการ “Face to Face(การพบกันโดยตรง)” แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวได้
ดังนั้นในตอนนี้เราจึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีอย่าง ICT (information and communication technology) เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคต่าง ๆผ่านระบบออนไลน์ ผมยังมีไอเดียอีกว่าต่อจากนี้อยากจะสร้างรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรณ์บุคคลแบบใหม่ที่อาศัยทั้ง “การลงมือปฏิบัติ ณ สถานที่จริง + รูปแบบออนไลน์” ครับ
ในขณะเดียวกัน AMEICC เองก็ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานขององค์กรธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันหลายประเทศจำเป็นต้องระงับหรือลดจำนวนการผลิตลง เนื่องจากมาตรการจำกัดทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ผมมองว่าเราควรใช้โอกาสนี้พัฒนาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้าง “ระบบซัพพลายที่มีความมั่นคง” ต่อไปในอนาคต
จากมาตรการความร่วมมือริเริ่ม (Joint Initiative) ที่รัฐมนตรี Kajiyama รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นประกาศร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อเดือนปลายเมษายนที่ผ่านมาเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจเร่งด่วนที่เราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด สำหรับท่านใดที่สนใจเข้าร่วมอบรมกับเราสามารถติดต่อมาได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02- 255-2370 (สำนักงานใหญ่)