Chugoku Bank「การเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยจะเป็นแรงที่ช่วยบริษัทญี่ปุ่น」Kondo Keishi

「การเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุของไทยจะเป็นแรงที่ช่วยบริษัทญี่ปุ่น」

《โปรไฟล์》
ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงเทพฯ
Kondo Keishi
■เกิดเมื่อปี 1974 ที่จังหวัดฮิโรชิมะ ในปี 1998 หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมจิแล้วจึงเข้าทำงานที่ธนาคารจูโกกุ โดยเริ่มจากการบริหารสาขาของธนาคารในจังหวัดฮิโรชิมะเวียนกันไปทั้ง 6 สาขา จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2018 จึงเข้ารับตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน
■คำคมที่ชอบ:ความโชคร้ายมีความโชคดีแฝงอยู่เสมอ
■บุคคลที่เคารพนับถือ:พ่อ แม่
■หนังสือเล่มโปรด:หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ
■งานอดิเรก:กอล์ฟ เคนโด ท่องเที่ยว
■การใช้เวลาวันหยุด: กอล์ฟ ยิม ท่องเที่ยว
■ร้านประจำในกรุงเทพฯ:Zola Snack bar Kitchen Niigata

ธนาคารจูโกกุเป็นธนาคารท้องถิ่นอันดับหนึ่งของจังหวัดโอกายามะ มีสาขาในประเทศญี่ปุ่น 8 สาขา เช่นในจังหวัดฮิโรชิมะ คะงาวะ และยังมีสาขาในต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ จีน และอเมริกา และเราจะได้พูดคุยกับ คุณคอนโด เคชิ ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงเทพฯ เรื่องบทบาทหน้าที่ของธนาคารซึ่งทำธุรกิจอยู่ใกล้ชิดท้องถิ่นที่สุด
นักเขียน : ยามากุจิ

ได้ยินมาว่าต้องการมาทำงานที่ต่างประเทศเอง
ตอนที่ได้รับแจ้งว่าจะต้องมาทำงานที่ประเทศไทยผมดีใจมาก เดิมทีผมทำงานอยู่ฝ่ายขาย รับผิดชอบบริษัทในเขตจูโกกุเป็นหลักมากว่า 20 ปี ในบรรดาบริษัทที่เราดูแลอยู่ก็มีหลายบริษัทที่ออกไปตั้งสาขาในต่างประเทศ ทางธนาคารก็มีการพูดถึงเรื่องการออกไปทำสาขาที่ต่างประเทศหลายครั้ง สำหรับผมในตอนนั้นก็คิดว่าเป็นแค่หัวข้อเรื่องที่คุยกันในบริษัทเฉยๆ เท่านั้น แต่ที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดก็คือ หลังจากที่ได้ร่วมทริปการเดินทางไปดูงานของบริษัทที่ประเทศเวียดนามเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังจากได้สำรวจบริษัทท้องถิ่นของเวียดนาม ผมก็รู้สึกทึ่งมากที่ประเทศในเอเชียแถบนี้พัฒนากว่าที่คิดเอาไว้มาก การได้รู้และเห็นด้วยตาของตนเองทำให้เข้าใจอะไรได้ดีขึ้น
หลังจากนั้น การพูดคุยเรื่องการเข้าไปตั้งสาขาในเวียดนามก็เป็นเรื่องที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยๆ เนื่องจากได้ไปดูด้วยตนเองและรู้จักชื่อเมืองแล้ว บทสนทนาจึงสนุกมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผมคิดได้ว่าการทำงานโดยมีความรู้เป็นอย่างดีกับไม่รู้นั้นมีความต่างกันอย่างมาก ความต้องการที่จะออกไปทำงานต่างประเทศจึงมากขึ้น

หน้าที่ของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง
สำหรับในประเทศไทยก็ทำการจับคู่ธุรกิจและสนับสนุนการตั้งบริษัทในต่างประเทศ และสนับสนุนการทำธุรกิจในประเทศไทย เป็นต้น หลายปีมานี้ได้ให้ความสำคัญเรื่องการควบรวมและซื้อกิจการมากเป็นพิเศษ และในปัจจุบันมีบริษัทในไทยที่เริ่มคิดเรื่องการควบรวมกิจการโดยการโอนถ่ายหุ้นมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเองเกิดสภาวะสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงหลายๆ บริษัทก็ต้องการที่จะถอนตัว และบริษัทที่เลือกดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะก็มากขึ้น การบริการจัดหาผู้ที่จะมาซื้อหุ้นต่อจึงมีมากขึ้นด้วย

คิดว่าสภาวะการณ์แบบนี้จะเป็นตัวช่วยบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะหากได้ซื้อบริษัทไทยที่มีความเก่าแก่ ระบบเครือข่ายและการขนส่งที่มั่นคง ก็จะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างไม่มีอะไรติดขัด
โดยปกติการทำงานในต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้ทั้งเงินทุน แรงคน และเวลาเป็นอย่างมาก การที่คนนอกอย่างบริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามาตั้งฐานการลงทุนแล้วจ้างและอบรมพนักงาน การทำให้ฐานการลงทุนแข็งแกร่งขึ้นได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งสั่งสมพื้นฐานของตลาดมาได้ช่วงเวลาหนึ่งแล้ว การจะเข้ามานั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย

โดยส่วนตัวผมวิเคราะห์และตั้งความหวังไว้กับธุรกิจที่เหมาะกับสภาวะสังคมสูงวัยและกำลังขาดแคลนแรงงาน อาทิเช่น ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ การแพทย์ การบริบาล และอื่นๆ เป็นต้น เพื่อที่จะจับทางได้ว่าอะไรที่จำเป็นต่อประเทศไทย ผมจึงเฝ้าจับตามองหาทุกวันเลยครับ
เพียงแต่ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การเข้าไปพบกับลูกค้าแล้วพูดคุยกันโดยตรง การได้เห็นสินค้าหรือการบริการจริงๆ จะทำให้เราได้เข้าใจว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร พวกเรามีจุดแข็งตรงที่พบกับคนได้หลากหลายประเภทธุรกิจบริการ ผมจึงเรียนรู้เพื่อที่จะจับคู่ธุรกิจให้เข้ากันได้อยู่ทุกวันเลยครับ

ดูแลประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนอยู่ด้วยใช่ไหมครับ
ตั้งแต่เปิดสำนักงานที่นี่ก็เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ในปัจจุบันเรามีลูกค้าในประเทศไทย 150 บริษัท เวียดนาม 90 บริษัท กัมพูชา 20 บริษัท ลาว 2 บริษัท ส่วนมากบริษัทภาคการผลิตจะต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก แต่ก็เริ่มมีบางบริษัทที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนาม แต่เวียดนามยังไม่มีระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งเหมือนประเทศไทย สุดท้ายก็ต้องพึ่งการหาวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ ในทางกลับกัน ปัญหานี้ก็ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจได้อีกด้วย การเติมส่วนที่ขาดไปในประเทศนั้นๆก็ถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

ให้ความสำคัญกับธนาคารอื่นๆ ด้วย
ใช่ครับ เพียงแค่ธนาคารเรามีข้อจำกัดที่จะทำการจับคู่ธุรกิจ จึงต้องอาศัย JETRO ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลธุรกิจทั้งหมด และข้อมูลจากธนาคารท้องถิ่นญี่ปุ่นกว่า 20 ธนาคารที่เข้ามาเปิดสำนักงานในเมืองไทย เรานำข้อมูลเหล่านั้นมารวมกันและปรับใช้ โดยเราได้จัดงานเพื่อความร่วมมือทางธุรกิจขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อเป้าหมายในการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นทั้งเล็กและใหญ่

การทำงานที่ญี่ปุ่น มักจะถูกจำกัดเรื่องขนาดและขอบเขตการทำธุรกิจ แต่ในประเทศไทย สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปได้ในแบบ “ALL JAPAN” ทำให้ต้องการความคิดและการนำเสนอที่กว้างมากขึ้น

ใน 1 ปีที่ผ่านมานี้ เราเป็นฝ่ายได้รับคำแนะนำจากลูกค้า แต่ต่อไปนี้ก็จะขอเป็นฝ่ายเสนอแนะอะไรกลับไปเพื่อเป็นการตอบแทนบ้างครับ

 

พวกเราทั้ง 4 คน พร้อมให้ความสนับสนุนบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างเต็มที่

Share this article.

PAGE TOP