「ผู้บริหารคนไทยคือผู้ที่จะทำให้ทรัพยาการบุคคลในท้องถิ่นเติบโตมากที่สุด」
《โปรไฟล์ 》
กรรมการผู้จัดการ
Yamashita Katsuhiro
■เกิดเมื่อปี 1974 ที่จังหวัดเฮียวโก หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้าแล้วจึงเข้าทำงานในบริษัท Kinki Nippon Tourist , Career Design Center ในตำแหน่งบริหารและจัดการ จนกระทั่งปี 2012 ได้เข้าทำงานในบริษัท JAC Recruitment ในตำแหน่งผู้จัดการ และเลื่อนขึ้นรับตำแหน่งในปัจจุบันเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2013
■คำคมที่ชอบ:ถ้าลังเลให้ลงมือทำ
■หนังสือเล่มโปรด:Teal Soshiki, LIFE SHIFT
■ร้านประจำในกรุงเทพฯvMotomoto Musashi
■การใช้เวลาวันหยุด:เล่นเทนนิส นวดสปา
บริษัทจัดหางานสัญชาติญี่ปุ่น JAC Recruitment Thailand ซึ่งเป็นบริษัทที่คอยสนับสนุนทรัพยากรบุคคลให้แก่บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย คุณยามาชิตะ คัทสึฮิโระได้กล่าวไว้ว่า จากการให้คำปรึกษาที่ผ่านมาเรื่องที่บริษัทลูกค้าต่างก็มาขอคำแนะนำมากที่สุดคือหัวข้อ ‘‘การสื่อสารกับพนักงานคนไทย’’ เราจะสัมภาษณ์คุณยามาชิตะ เพื่อหาข้อสรุปเพื่อแก้ไขปัญหานี้กัน
การสื่อสารกับพนักงานคนไทยเป็นเรื่องที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนมากประสบปัญหา
ใช่ครับ ระหว่างที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยหาบุคลากรให้กับบริษัทญี่ปุ่นในไทย ก็มีลูกค้าของเราจำนวนมากที่มาปรึกษาเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นปัญหาหลักของทุกบริษัท บางบริษัทเราก็เพิ่งมาพบว่าเป็นปัญหาอย่างเด่นชัดตอนที่คุยกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปรากฎให้เห็นชัดมาตั้งแต่แรก เพราะแต่ละครั้งที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาก็พบว่า มีบริษัทที่ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารกับพนักงานท้องถิ่นมากกว่าที่เราคิดเอาไว้เสียอีก
โดยรูปธรรมแล้วปัญหาส่วนมากที่พบเป็นปัญหาแบบไหน
อย่างแรกก็คือการทำให้ทุกคนซึมซับนโยบายของผู้นำองค์กรเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุด คิดว่าผู้บริหารทุกท่านแทบจะมีประสบการณ์เหมือนกันก็คือ “ความเกรงใจ” ของคนไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสิ่งนี้จะต่างไปจากการทำงานแบบญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การรายงานแต่เรื่องที่ดีๆ ไม่รายงานเรื่องไม่ดีเพื่อให้เจ้านายพอใจ หรือ ไม่พูดสิ่งที่ตัวเองคิด ทำให้เกิดปัญหาเป็นอย่างมาก และการติดต่องานกับคนไทย บางครั้งได้รับคำตอบว่า ‘‘เข้าใจแล้ว’’ แต่ความจริงแล้วข้อมูลไม่ได้ถ่ายทอดออกไปอย่างถูกต้องก็มี อธิบายง่ายๆ ก็คือ ‘‘พนักงานไม่เข้าใจผู้บริหาร และผู้บริหารก็สั่งให้พนักงานเหล่านั้นทำงานโดยที่ไม่เข้าใจเนื้องานอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องทำงานต่อไปทั้งๆ อย่างนั้น’’
ไม่มีวิธีแก้ไขเลยหรือ
สำหรับตัวผมเอง ระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำองค์กรในประเทศไทยมาเป็นเวลา 5 ปี ก็พบกับปัญหาแบบนี้มาตลอด สิ่งที่สัมผัสได้กับตัวก็คือการบริหารจัดการแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อให้คนไทยทำงานได้ เรียกได้ว่าเป็นจุดต่างทางวัฒนธรรมของไทยและญี่ปุ่นเลยครับ
และด้วยเหตุนั้น บริษัทของเราจึงแต่งตั้งคุณเวคินเป็นผู้บริหารในตำแหน่งหน้าที่ดูแลและสั่งงานคนไทย นับแต่นั้นมา นโยบายของผู้บริหารก็ถูกถ่ายทอดไปถึงพนักงานคนไทยในบริษัทอย่างรวดเร็ว และยังทำให้ผลการประกอบการสูงขึ้นตามไปด้วย
ทำอย่างไรถึงจะได้ทรัพยาการบุคคลเก่งๆ มาทำงานด้วย
ประโยคที่ได้ยินมาบ่อยๆ ก็คือ มักจะได้คนดีๆ เข้ามาทำงาน แต่ไม่นานก็ลาออกไปทำงานในบริษัทฝรั่งที่มาเปิดในประเทศไทย คงเป็นเพราะว่าบริษัทจากอเมริกาและยุโรปนั้นให้โอกาสคนเก่งๆ ได้เจริญเติบโตในองค์กรนั่นเอง
ความจริงแล้ว บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยแทบจะไม่ตั้งคนไทยเป็นผู้บริหารเลย อาจมีสาเหตุมาจากหาคนเก่งๆ มาทำงานในตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้ หรือเป็นเพราะคนเก่งๆ เห็นว่าโอกาสที่จะเจริญเติบโตในองค์กรมีน้อย จึงลาออกไปทำที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใด ถ้าหากบริษัทต่างๆ ไม่ทำให้เห็นว่ายังมีโอกาสให้เจริญก้าวหน้าในบริษัท คนเก่งๆ ก็คงจะไม่อยากจะมาทำงานด้วยแน่นอน
และถ้าหากหาคนเก่งโดยมีเงื่อนไขว่าต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้ก็จะทำให้จำนวนคนที่ตรงตามเงื่อนไขลดลงไปอีก ผู้บริหารคนไทยของบริษัทเราไม่มีความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่น แต่กลับมีความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ความสามารถด้านภาษาก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ถ้าหากลองมองหาคนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ หรือคิดโครงการใหม่ๆ ออกมาได้อยู่ตลอด ก็อาจจะทำให้พบคนที่มีความสามารถตรงตามที่คิดไว้ก็ได้
ซึ่งบางทีบริษัทก็อาจจะมองข้ามบุคลากรของตนที่สามารถเป็นผู้บริหารไปอย่างน่าเสียดาย อย่างบริษัทเราเอง เดิมทีเราก็ไม่ได้รับคุณเวคินเข้ามาเพื่อเป็นผู้บริหาร แต่รับเข้ามาเป็นผู้จัดการดูแลสาขาอยุธยาเมื่อปี 2015 ผลจากการทำงานที่โดดเด่นและความพยายามทำให้ได้รับตำแหน่งผู้บริหารในที่สุด ถ้าหากไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเพราะมีสาเหตุจากการไม่ได้ภาษา คิดว่าเขาคงจะลาออกและไปทำงานที่อื่นแล้ว
เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าการสื่อสารในวัฒนธรรมที่ต่างออกไปมีความสำคัญมาก
แม้จะมีปัญหาแต่มันก็เป็นรสชาติของการทำงานในต่างประเทศ เดิมทีเหตุผลที่ผมเลือกมาประเทศไทยก็เพื่อฝึกฝนให้สามารถทำงานในประเทศที่มีความต่างทางวัฒนธรรมได้ทั่วโลก จำได้ว่าตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่นี่แรกๆ รู้สึกตกใจกับความแตกต่างระหว่างคนญี่ปุ่นและคนไทยมาก แต่ขณะเดียวกันก็ค้นพบว่า‘‘นี่แหละ คืองานที่ผมอยากทำ’’ แม้ว่าจะมีปัญหาระหว่างวัฒนธรรมแต่ก็ต้องก้าวข้ามมันไปให้ได้ และทำให้การบริการช่วยการหางานมีคุณภาพที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก
ภาพถ่ายร่วมกับคุณเวคินซึ่งได้รับความไว้วางใจจากคุณยามาชิตะเป็นอย่างมาก