Tokachi Daifuku Honpo 「อนาคตอันสดใสของผลิตภัณฑ์ถั่วแดงจากประเทศไทย」Takama chikara

「อนาคตอันสดใสของผลิตภัณฑ์ถั่วแดงจากประเทศไทย」

《โปรไฟล์》
กรรมการผู้จัดการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการบริษัท “Sunflour Tokachi” ประจำประเทศไทย
Takama chikara
■เกิดเมื่อปี 1969 ที่เมืองฮาโกดาเตะ จังหวัดฮอกไกโด เข้าทำงานในธนาคารโฮขุโยะ (Hokuyo Bank) จนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 2003 และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันก็ได้เข้าทำงานในบริษัทโทคาจิ ไดฟุกุ ฮนโปะ จากนั้นก็ได้ย้ายมาประจำในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2017 จนถึงปัจจุบัน
■บุคคลที่ยกย่อง:คุณพ่อ
■งานอดิเรก:ตกปลา
■เวลาว่างในวันหยุด:วิ่ง
■นาฬิกาข้อมือเรือนโปรด:Apple Watc
■รถยนต์ที่ใช้ขับไปทำงานหรือรถยนต์คันโปรด:LEXUS RX450h F SPORT

บริษัทผู้ผลิตขนมญี่ปุ่น “โทคาจิ ไดฟุกุ ฮนโปะ (Tokachi Daifuku Honpo)” ได้เดินหน้าการก่อตั้งโรงงานในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในปีนี้ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การขยายช่องทางธุรกิจนอกประเทศญี่ปุ่นที่ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าขนาดของตลาดกำลังหดตัวลง โดยประเทศไทยจะกลายเป็นฐานยุทธศาสตร์ เพราะเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียใต้ที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่มีความโดดเด่น นอกจากนี้ยังเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ อย่างการลองนำเข้าถั่วแดงของประเทศไทยสู่ญี่ปุ่น และในวันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณทาคามะ จิคาระ กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการตลาดมาสู่ประเทศไทย

เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานที่ตั้งในต่างประเทศแห่งแรก
ด้วยความที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้สูงมาก อีกทั้งจำนวนประชากรก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยจึงถือเป็นตลาดสำคัญสำหรับทำการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่จริงๆ แล้วประเทศไทยยังมีอีกหนึ่งข้อดีที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล หรือถั่วแดง เราสามารถรับสินค้าเหล่านี้มาจากผู้ผลิตได้โดยตรง แตกต่างจากที่ญี่ปุ่นที่เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศอีกทีหนึ่ง และถ้าหากลองคิดดูว่า การที่มาตั้งโรงงานในต่างประเทศแล้วยังต้องนำเข้าสินค้ามาจากประเทศอื่นอีกนั้น เรารู้สึกว่ามันแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ในปี 2015 ที่เราเริ่มสำรวจประเทศที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงงานการผลิต ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เริ่มดำเนินการขึ้น ทำให้เราได้ค้นพบว่าประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรมากถึง 60 ล้านคนในขณะนั้นน่าจะเป็นพื้นที่ทางการตลาดขนาดใหญ่ที่สำคัญอย่างแน่นอน ตอนนั้นผมก็เลยคิดว่า “ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์ หากเราสามารถตั้งโรงงานที่ไทยได้ ตรงนี้น่าจะเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและการบริโภคที่ดีอย่างแน่นอน ” ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มทำการสำรวจพื้นที่อย่างจริงจัง

เมื่อมองย้อนกลับไป ความรู้สึกในตอนนั้นเป็นอย่างไร
วัฒนธรรมขนมหวานจากญี่ปุ่นหรือประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่แพร่หลายในไทยเท่าไหร่นัก อีกทั้งการขนส่งแบบ Cold Chain ก็อยู่ระหว่างการพัฒนา ทำให้รู้สึกได้ว่า “การเข้ามาทำตลาดที่นี่ถือว่ายังมีช่องโหว่อยู่พอสมควร” ในตอนนั้น ขนมที่มีวางขายอยู่ในท้องตลาดมีแค่เค้กเนย หรือเค้กวิปครีมเท่านั้น แถมอากาศประเทศไทยก็ร้อนขนาดนี้ยังไม่มีการเตรียมการขนส่งแบบเย็นที่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้เลยยังเป็นปัญหาในการจัดการสินค้าของเรา

แต่ในทางกลับกันผมกลับคิดว่า “มันคือโอกาส” เพราะขณะนั้นบริษัทญี่ปุ่นยังไม่แพร่หลายเท่าไหร่นัก สำหรับการทำธุรกิจในไทย เราไม่ได้เน้นเฉพาะขนมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เรายังคิดค้นและผลิตขนมแบบฝรั่งด้วย อีกทั้งเราก็พยายามรักษามาตรฐานด้านสุขอนามัยซึ่งเป็นหัวใจหลักของเรามาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็ได้เรียนรู้และพยายามปรับปรุงข้อเสียมาเรื่อยๆ และจะมุ่งมั่นทำงานในประเทศไทยต่อไป

ในตอนแรกเราตั้งใจจะประกอบธุรกิจแบบการผลิตตามความต้องการเป็นหลัก แต่หลังจากที่มีโอกาสได้ไปนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้าในงานนิทรรศการอาหารไทยแล้วปรากฏว่าได้รับผลตอบรับดีเกินคาด จึงเกิดความคิดว่า “จะมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นไปอีก” ผมเริ่มเปลี่ยนแนวคิดใหม่ คือเราจะไม่ยัดเยียดขายสินค้าของญี่ปุ่นให้กับลูกค้าเพียงฝ่ายเดียว แต่เราจะนำเอาวัฒนธรรมของไทย รวมถึงรสนิยมความชอบและจุดเด่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาปรับใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นที่ชื่นชอบของคนในพื้นที่ต่อไปให้ได้

คิดว่าต่อจากนี้มีแผนจะนำสินค้าที่ผลิตในไทยส่งออกไปญี่ปุ่นหรือไม่
หลังจากที่โรงงานก่อสร้างแล้วเสร็จ เราก็เริ่มการผลิตเมื่อปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมา ระบบยังมีความผิดพลาดอยู่พอสมควรเนื่องจากเพิ่งเริ่มดำเนินการได้ไม่นาน ยอดขายในปีแรกเราคาดเอาไว้ว่าอาจจะอยู่ที่ 20-30 ล้านเยน แต่เมื่อได้เริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบแล้ว ก็เผื่อใจเอาไว้ว่าอาจจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 10-20 ล้านเยน เริ่มแรกเราได้นำไดฟุกุไปวางขายในในห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่นที่เปิดไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และที่ 7-11 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ต่อจากนี้ก็มีแผนจะขยายไปร้านค้าอื่นๆ ด้วย แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมในการผลิตของเรา

ถามเรื่องกลยุทธ์การทำธุรกิจ
นั่นสินะครับ ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในภาวะเงินฝืด การแข่งขันกันทางด้านราคาก็รุนแรงมาก แต่ละบริษัทจะทนได้ขนาดไหนก็คืออยู่กับความแข็งแรงของแต่ละแห่ง แต่โชคดีที่ประเทศไทยสามารถผลิตถั่วแดงได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ ก็เลยคิดว่าข้อได้เปรียบในจุดนี้น่าสนใจ ในตอนนี้เราก็กำลังพยายามศึกษาหาข้อแตกต่างระหว่างสินค้าจากโทคาจิซึ่งมีคุณภาพสูง กับสินค้าจากของไทยที่ต้นทุนถูกกว่าอยู่

ในขณะเดียวกัน ในปีนี้ผลผลิตของถั่วแดงในญี่ปุ่นก็ไม่ดีนัก แถมค่าครองชีพก็ยังพุ่งสูงมากขึ้นไปอีก ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปอาจจะต้องเตรียมรับมือกับต้นทุนของขนมไดฟุกุที่จะสูงขึ้นด้วย สำหรับเราที่ใช้ถั่วแดงของไทยในการผลิต จึงสามารถดำเนินการผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อมาคำนวนแล้วก็พบว่าเราสามารถประหยัดต้นทุนของถั่วแดงลงได้ถึงครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์จากโทคาจิ

นอกจากนี้ ต่อไปเราก็มีแผนจะจำหน่ายถั่วแดงของไทยเป็นวัตถุดิบให้กับผู้ผลิตขนมปังด้วย ถั่วแดงของไทยไม่ได้มีดีแค่ราคาถูกเท่านั้น แต่ยังมีรสชาติอร่อยมากๆ อีกด้วย ครั้งหนึ่งเราเคยลองเปรียบเทียบกับถั่วแดงของจีนก็พบว่าของไทยนั้นอร่อยกว่ามาก สำหรับเรื่องการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นนั้น เราคิดว่ามีความได้เปรียบในเรื่องของราคา จึงคิดว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ในอนาคต

ที่ญี่ปุ่นมีขนมที่ใช้ถั่วแดงของไทยขายบ้างไหม
ในปีหน้าที่ญี่ปุ่นกำลังจะมี Tokyo Olympic เกิดขึ้นก็คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดี ในตอนนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะมีชาวอิสลามหลั่งไหลเข้ามาประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการผลิตอาหารที่มีสัญลักษณ์ฮาลาลสำหรับชาวอิสลามในญี่ปุ่นนั้นถือว่าค่อนข้างยาก แต่เมื่อเทียบกับโรงงานที่ประเทศไทยแล้วถือว่าทำได้ง่ายกว่ามาก ดังนั้นก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเราจะทำการผลิตในประเทศไทยและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นต่อไป

นี่สิถึงเรียกว่าขนมของญี่ปุ่น “ครีมไดฟุกุ”

Share this article.

PAGE TOP